ขอชวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 24 มี.ค. 2562

ความสำคัญของการเลือกตั้ง ส.ส. 
การเลือกตั้ง ส.ส. มีความสำคัญต่อคนไทยทุกคนที่ต้องไปทำหน้าที่เพื่อมอบอำนาจอธิปไตยของเราโดยการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์และดูแลทุกข์สุขของประชาชน รวมทั้งบริหารงบประมาณของประเทศชาติถึงปีละหนึ่งล้านล้านบาท ดังนั้น การเลือกผู้แทนที่เป็น “คนดี” มีความซื่อสัตย์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนให้เข้าไปทำงานทางการเมืองเราจะทำให้สามารถใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่มาจากเงินภาษีของประชาชนไปพัฒนาประเทศชาติได้อย่างเต็มที่
ที่มาของ ส.ส. 
ส.ส. มีจำนวน 500 คน มาจากการเลือกตั้ง 2 แบบ ได้แก่

  1. ส.ส. แบบแบ่งเขต มีจำนวน 350 คน คือ ส.ส. ที่มาจากเขตเลือกตั้งโดยการแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกเป็น 350 เขต ในแต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส. ได้ 1 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.
  2. ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มีจำนวน 150 คน โดยพรรคการเมืองจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งบัญชี ซึ่งรายชื่อไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ส่งให้กรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  การลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงจะได้รับ มาจากการจัดสรรคะแนนที่ประชาชนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จากพรรคต่างๆ ทั้งประเทศ มาคำนวณจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองที่จะได้รับในการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองจะมีจำนวน ส.ส. ทั้งสองประเภทได้ไม่เกินจำนวนโควต้าที่พรรคการเมืองได้รับ

คุณสมบัติ ส.ส.

  1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
  2. มีอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
  3. เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียวติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
  4. ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
    • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
    • เกิดในจังหวัดที่สมัคร
    • เคยเรียนในจังหวัดที่สมัครไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา
    • เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานรัฐ / เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัคร ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี

และต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) ติดยาเสพติดให้โทษ
(2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (ตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4) แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560)
(5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(6) ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(7) เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(8) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(9) เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกเพราะกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(10) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(11) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํานอกจากข้าราชการการเมือง
(13) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(14) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
(15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(16) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ
(17) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
(18) เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

หน้าที่ของ ส.ส.
  1. ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
  2. เป็นผู้เลือก ส.ส. ที่จะไปดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
  3. ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
  4. จัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อพัฒนาประเทศ
  5. นำปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนเสนอรัฐบาล
คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.
  1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  1. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  2. อยู่ในระหว่างถูกเพิงถอนสิทธิการเลือกตั้ง
  3. ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยตคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  4. วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ
การลงคะแนนเลือกต้ัง ส.ส. ล่วงหน้า
การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่คนละจังหวัดกับทะเบียนบ้านหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านปัจจุบันไม่ถึง 90 วัน สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัดที่ท่านทำงานหรืออาศัยอยู่ได้ แต่ต้องยืนคำขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน จึงจะมีสิทธิ
กรณีเขตเลือกตั้งใดมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่าง หรือมีการเลือกตั้งใหม่ บุคคลผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิดังกล่าวก็สามารถเดินทางกลับไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้
การลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านตามทะเบียนบ้าน แต่ในวันเลือกตั้งต้องเดินทางออกนอกเขตไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ก็สามารถไปแสดงตนเพื่อขอลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนวันเลือกตั้งได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง โดยต้องยื่นคำขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิดังกล่าวต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายในระยะเวลาที่ กกต. กำหนด
การเตรียมตัวก่อนไปเลือกตั้ง
  1. การตรวจสอบรายชื่อ
    1. 20 วันก่อนวันเลือกตั้ง ตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการเขต ที่ทำการ อบต. สำนักงานเทศบาล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือเขตชุมชน
    2. 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและที่เลือกตั้งจากหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน (ส.ส.12)
  2. การเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ
    ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน หากเห็นว่าไม่มีชื่อตนเองหรือมีชื่อผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้แจ้งนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยนำหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้มาแสดงด้วย
การแจ้งเหตุที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้
  1. ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน ขอรับแบบ ส.ส. 28 หรือทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ และให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
  2. ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น
    1. ด้วยตนเอง
    2. มอบหมายผู้อื่นหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
  3. ผู้ที่มีเหตุทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้
    1. ผู้มีธุรกิจจำเป็นเร่งด่วนต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
    2. ผู้ป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
    3. ผู้พิการหรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
    4. ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
    5. ผู้มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
    6. ผู้ประสบเหตุสุดวิสัย เช่น อุทกภัย วาตภัย ฯลฯ
หลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้ง
  1. บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  2. บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น
    1. บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    2. ใบขับขี่
    3. หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
การอำนวยความสะดวกผู้พิการที่มีสิทธิเลือกตั้ง

คณะกรรมการเลือกตั้ง ได้จัดให้มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการใช้สิทธิเลือกตั้งได้สะดวกขึ้น โดยคอยช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ซึ่งการช่วยเหลือนั้นต้องให้ผู้พิการได้ลงคะแนนด้วยตัวเองด้วย เช่น จัดให้มีบัตรทาบในการลงคะแนนสำหรับผู้พิการทางสายตา อำนวยความสะดวกในกานหย่อนบัตรในหีบบัตรเลือกตั้ง ฯลฯขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง

  1. ตรวจสอบรายชื่อ ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้สิทธิเลือกตั้งที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง
  2. ยื่นบัตรประชาชน ยื่นบัตรประชาชนและลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  3. รับบัตรเลือกตั้งพร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง
  4. ทำเครื่องหมายกากบาท เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทำเครื่องหมาย
    • เลือกผู้สมัครเพียงหมายเลขเดียว
    • หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครรายใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่ลงคะแนน
  5. หย่อนบัตรด้วยตนเอง เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งให้เรียบร้อยและหย่อนบัตรลงในหีบ บัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง
คนดีที่ควรเลือกเป็น ส.ส. ควรมีลักษณะ เช่น
  1. มีประวัติการทำงานหรือผลงานที่ผ่านมาดีและเป็นที่ยอมรับ
  2. มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ
  3. เข้าถึงประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาแก้ไข โดยเสนอเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
  4. เป็นแบบอย่างของการรู้จักรักษาประโยชน์ของส่วนรวมไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง เช่น แจกเงินหรือสิ่งของเพื่อให้ผู้ใดลงคะแนนให้ตนเอง หรือไม่ลงคะแนนให้กับผู้สมัครอื่น หรือพรรคอื่นๆ
พรรคการเมืองที่ดี ควรมีลักษณะ เช่น
  1. มีนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นจริงได้
  2. ระบบบริหารของพรรคยึดหลักการประชาธิปไตย
  3. มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
  4. ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
  5. เป็นพรรคที่รวมคนทุกกลุ่มในสังคมเป็นสมาชิกไม่ใช่ยึดติดเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
การนับคะแนนและการประกาศผล
เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา 17.00 น. ของวันเลือกตั้งแล้ว จะนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งโดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียว เพื่อ
  1. ป้องกันการทุจริตเลือกตั้งที่อาจเกิดจากการขนย้ายหีบบัตร
  2. ให้การนับคะแนนเสร็จสิ้น และสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้รวดเร็ว

หลังจากนั้น กกต.เขต จะรวบรวมผลการนับคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งภายในเขต และประกาศผลรวมคะแนนของเขตและปิดประกาศไว้ในสถานที่ที่กำหนด พร้อมรายงานต่อ กกต.ประจำจังหวัด และรายงานต่อ กกต. เพื่อประกาศและรับรองผลการเลือกตั้ง

การคัดค้านการเลือกตั้ง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งยื่นคัดค้านต่อ กกต. โดย
  1. ก่อนวันการประกาศผลการเลือกตั้ง หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง กรณีเห็นว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  2. ภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง กรณีเห็นว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเกินจำนวนที่ กกต. กำหนด หรือผู้สมัครไม่ยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่าย ภายใน 90 วันหลังวันเลือกตั้ง
การเสียสิทธิ 5 ประการ

หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่ได้แจ้งเหตุอันอาจไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุฯ แล้วแต่เหตุนั้นไม่สมควร กฎหมายกำหนดให้เสียสิทธิบางประการดังต่อไปนี้

(1) สิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.
(2) สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
(3) สิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
(4) ต้องห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
(5) ต้องห้ามดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การจำกัดสิทธิทั้ง 5 ข้อ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้เริ่มนับเวลาการจำกัดสิทธิ 2 ปีใหม่จากวันที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิครั้งล่าสุด

ข้อห้ามกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

  1. ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมซื้อเสียง
  2. ห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง
  3. ห้ามส่งเสียงและห้ามขายหรือจัดเลี้ยงสุรา ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
  4. ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง
  5. ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง
  6. ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้ง โดยไปต้องเสียค่าโดยสาร
  7. ห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ
  8. ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้วด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ
  9. ห้ามเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
  10. ห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (โพลล์) ในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง
การไม่ซื้อสิทธิขายเสียง เป็นวาระแห่งชาติ
รัฐบาลประกาศให้ การแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากการทุจริตเลือกตั้งส่งผลเสียหายโดยรวมต่อประเทศชาติของเรา เช่น
  1. ต้องสูญเสียงบประมาณ ซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชนในการจัดการเลือกตั้งใหม่
  2. ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปจากการทุจริตเลือกตั้งอาจเข้าไปโกงเงินภาษีของประชาชนเพื่อถอนทุนคืน
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเหตุทุจริต
เมื่อพบเห็นการทุจริตเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน สิ่งของ หรือมีการเรียกรับเงิน หรือทรัพย์สิน ให้ช่วยกันแจ้งเบาะแส หรือรวบรวมหลักฐานการทุจริตแจ้งต่อตำรวจในพื้นที่หรือรายงานให้ กกต. ทราบ
  1. ด้วยตัวเอง
  2. ทางโทรศัพท์ หมายเลข 1444 , 0-2141-8888

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง

ติดต่อเรา